17 เมษายน 2568
การทำงานร่วมกับคนต่างวัยกลายเป็นบทเรียนที่มีค่า
สวัสดีครับ ผมต้า (พิทักษ์ตระกูล แก้วชัย) ปัจจุบันเป็น UX/UI Designer ที่บริษัท Tripetch IT Solution ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้กลุ่มตรีเพชร ทำหน้าที่ดูแลการออกแบบเว็บไซต์ Truck2Hand แพลตฟอร์มซื้อขายรถบรรทุก และสินค้ามือสองออนไลน์ที่มีสินค้ามากที่สุดในประเทศไทย!
ก่อนหน้าที่ผมจะร่วมงานกับที่นี่ ผมเริ่มต้นจากบริษัทสตาร์ทอัพขนาดไม่ใหญ่มาก ที่เต็มไปด้วยเพื่อนร่วมงานอายุไล่เลี่ยกัน มีแนวคิดที่คล้ายกัน วิ่งไปในทิศทางเดียวกัน แม้จะมีรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นระบบมากนัก แต่ก็มีความรวดเร็ว ฉับไว ไม่ซับซ้อน รวมถึงลักษณะในการสื่อสารก็เรียบง่าย พูดคุยได้อย่างเป็นกันเอง เพราะความที่เป็นบริษัทเล็กทำให้รู้จักและมีความสนิทสนมกันได้เกือบทุกคน
แตกต่างจากที่นี่ที่เป็นองค์กรใหญ่ ที่มีผู้คนมากหน้าหลายตา หลากอายุ หลากช่วงวัย ตั้งแต่เด็กจบใหม่ไฟแรงไปจนถึงวัยเข้าใกล้เกษียณ ผมก็สัมผัสได้ถึงความต่างที่เรียกว่า “ช่วงวัย (Generation Gap)” อย่างแท้จริง ทำให้ผมต้องปรับตัว เปลี่ยนวิธีคิด แนวทางการทำงาน รวมถึงต้องรับมือกับความคาดหวังในการทำงานที่แตกต่างออกไป นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความท้าทายนี้
ในเนื้องานของผมจำเป็นที่จะต้องมีการสื่อสารกับหลาย ๆ ฝ่าย เพื่อรวบรวมความต้องการ ปัญหา และนำมาสรุปเพื่อหาแนวทางที่เป็นไปได้ในการนำไปออกแบบ โดยในงานแรกที่ผมได้รับมอบหมายคือการรวบรวมข้อมูลลูกค้าเพื่อสร้างเป็นแผนที่ประสบการณ์ (Customer Journey Map) สำหรับนำไปใช้กำหนดทิศทางในการออกฟีเจอร์ใหม่ ๆ ในอนาคต ซึ่งนั่นทำให้ผมต้องไปคุยกับฝ่าย Business ที่มีความอาวุโสกว่า เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมความต้องการลูกค้า และก็มีบางอย่างที่ผมจำเป็นต้องกลับไปถามซ้ำอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากความไม่เข้าใจในธุรกิจและคำที่ใช้ในอุตสาหกรรม แต่ผมก็ไม่ย่อท้อ เพราะพี่ ๆ ก็ยินดีที่จะตอบคำถามทุกครั้ง และจะเตรียมคำถามที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละจุดให้ได้รายละเอียดให้ได้มากที่สุดเพื่อนำไปสรุป
นอกจากนี้ยังมีเรื่องกระบวนการทำงานที่มีความซับซ้อนมากกว่าสตาร์ทอัพ ซึ่งในช่วงแรกก็เกิดความคำถามกับพี่ ๆ ว่า “ทำไมยุ่งยากจัง” เพราะในบางครั้งก็ทำให้เกิดความล่าช้า แต่ด้วยความที่เป็นองค์กรใหญ่ทำให้ต้องคิดอย่างรอบคอบ และต้องเป็นไปตามขั้นตอน ผมก็สามารถทำความเข้าใจและปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบได้ดีมากขึ้น แต่ด้วยความที่เราเป็นคนดื้อ เราจะพยายามสอดแทรกหรือเสนอไอเดียใหม่ ๆ ในการทำงานเสมอ เช่น การจัดกิจกรรมระดมไอเดีย ที่ให้ทุกคนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนไอเดียกัน ซึ่งกิจกรรมนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผมสามารถทำความเข้าใจมุมมอง แนวคิด ของพี่ ๆ ในแต่ละช่วงวัยได้
สำหรับที่นี่การเสนอไอเดีย เป็นเรื่องปกติ แต่ไอเดียนั้นต้องสอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจ รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างขึ้นมาจริง ดังนั้นในการเสนอไอเดีย เราต้องมองข้อมูลหรือวิเคราะห์ในหลาย ๆ มิติ ในช่วงแรก ๆ ผมมักจะเสนอจาก Common Sense ของตัวเอง ซึ่งมันอาจจะมาจาก Bias ส่วนตัว แต่ไม่ได้พิจารณาข้อมูลประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย แต่ทุก ๆ ครั้งที่เสนอไอเดียไป เราจะได้คำแนะนำในแนวทาง วิธีคิดจากพี่ ๆ ทุกครั้ง เช่น แนะนำว่า “ลองคิดในมุมนี้รึยัง? มีข้อดี ข้อเสียยังไงบ้าง” ทำให้ผมเข้าใจว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องความเร็วในการทำงาน แต่มันต้องมีความถูกต้อง รอบคอบ คิดอย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกจุดที่ช่วยให้ผมรู้จุดอ่อนตัวเอง และพัฒนาตัวเองในทุก ๆ ครั้งให้ดีขึ้น
ผมได้เรียนรู้ว่า “ความแตกต่างระหว่างวัยไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นโอกาส” ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะใครผิด แต่มาจากความไม่เข้าใจกันระหว่างวิธีคิดของแต่ละช่วงวัย และเราต้องยอมรับว่าเราเปลี่ยนแปลงใครไม่ได้
สำหรับผมที่เป็นเด็กใหม่ การทำความเข้าใจและเรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผมเริ่ม “รับฟัง” ให้มากขึ้น พยายามทำความเข้าใจแนวคิดของคนแต่ละรุ่น ว่าพวกเขามีมุมมองแบบไหน กังวลอะไร และใช้องค์ประกอบอะไรบ้างในการตัดสินใจ
เมื่อเข้าใจแล้ว ผมใช้วิธีในการ “แลกเปลี่ยน” แทนการ “เปลี่ยนแปลง” ที่ค่อย ๆ ปรับวิธีการนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ให้ตรงกับสิ่งที่พวกเขาคาดหวังมากขึ้น เช่น แทนที่จะเสนอให้เปลี่ยนทั้งหมด ผมเสนอให้ทดลองใช้ในบางส่วนก่อน และให้ข้อมูลประกอบที่เป็นมิติที่กว้างขึ้น เพื่อให้พวกเขาได้เห็นข้อดี ข้อเสียของแต่ละวิธีการด้วยตัวเอง ในปัจจุบัน เส้นแบ่งของช่วงวัยค่อย ๆ จางลง ผมสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นและได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมงานทุกช่วงวัย รวมถึงยังสามารถทำให้ทีมเห็นถึงคุณค่าของไอเดียใหม่ ๆ โดยที่ยังเคารพในประสบการณ์และกระบวนการที่มีอยู่เดิม นี่เป็นบทเรียนสำคัญที่ช่วยให้ผมเติบโตขึ้นในการทำงาน
สำหรับใครที่กำลังเจอความท้าทายแบบเดียวกัน ผมอยากบอกคุณว่า “ความแตกต่างไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้และเติบโต” การเปลี่ยนแปลงอะไรในองค์กรใหญ่เป็นเรื่องยาก แต่สำหรับคนรุ่นใหม่อย่างเราสิ่งแรกที่ควรมีคือ “ความอดทน” เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดในชั่วข้ามคืน แต่มันจะค่อย ๆ ก่อตัวเมื่อเกิดความเข้าใจและความไว้วางใจซึ่งต้องใช้เวลาและความมุ่งมั่นของเรา อย่ารีบเร่งจนเกินไปเพราะอาจะจะทำให้เราพลาดโอกาส และประสบการณ์ดีมีคุณค่า
สุดท้ายนี้ “การทำงานกับคนต่างวัยไม่ใช่การแข่งขันว่าใครถูกใครผิด แต่เป็นการเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน ถ้าเราเปิดใจรับฟัง เข้าใจมุมมองของกันและกัน โอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนาตัวเองและทีมจะเกิดขึ้นเสมอ”
โดย คุณพิทักษ์ตระกูล แก้วชัย